กระแสหนังชายรักชายนั้นความจริงมันมีมาตั้งนานแล้ว แต่เนื่องด้วยกระแสวาทกรรมเกี่ยวกับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันสมัยก่อนนั้นค่อนข้างเข้มมากกว่าสมัยนี้ที่มีความ “เปิดกว้าง” มากขึ้น ดังนั้นหนังเหล่านี้มักจะอยู่ในรูปแบบของหนังใต้ดิน หนังอาร์ท หรือบางทีหลายคนก็เรียกว่าหนังเกรดบี (หนังที่มันเฉพาะกลุ่ม) และมักจะฉายตามโรงภาพยนตร์เล็ก ๆ หรือไม่ก็โรงภาพยนตร์ที่เฉพาะ ซึ่งกว่าจะได้ดูแต่ละเรื่อง ก็ไล่ล่าหาโรงหนังที่ฉายกันแทบพลิกแผ่นดิน แถมบางครั้งก็อยู่ในโรงไม่นาน ไม่กี่สัปดาห์ก็ถูกอันเชิญออกไปแล้ว
แต่ในปัจจุบันนี้หนังชายรักชายนั้นโลดแล่นอยู่ในช่องทีวีที่บ้าน แถมมีหลายเรื่องให้เลือกสรรดู กระตุกต่อมจิ้นสาววายกันทั้งสยามประเทศ เอาจริง ผมยังแอบอิจฉาเด็กสมัยนี้นะ ที่เกิดมาแล้วดูหนัง ดูสื่ออะไรแบบนี้ ไม่ถูกตัดสินว่าเป็นพวกผิดปกติบ้าง หรือพวกหมกมุ่นบ้าง (อันนี้ต้องขอขอบคุณกระแสเสรีนิยม หรือความลิเบอรัลด้านเพศที่ถ่าโถมมาต่อกรกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมให้อ่อนกำลังลง) ผมก็เป็นหนึ่งใน หนุ่มวาย ที่ชอบเสพสื่อชายรักชายเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ก็ดูบ้าง แต่ก็หยุดไป เพราะด้วยการเล่าเรื่อง หรือ narratives ของซีรีส์เหล่านี้มันแค่ตอบสนองต่อมจิ้นของกลุ่มสาววาย หาใช่คนที่เป็นเกย์อย่างผม ที่อยู่ในโลกของเกย์ ผมเลยเลิกดู แต่ก็พอรู้ว่าเรื่องไหนดี เรื่องไหนเป็นอย่างไร เพราะสปอยล์ต่าง ๆ ที่เพื่อนในเฟสบุ๊กเขาเอามาโพสต์กัน ช่วงนี้มีเรื่องใหม่ ๆ ออกมาเยอะมากในช่องวิทยุดาวเทียม หรือแม้แต่ทีวีออนไลน์ ผมเลยตัดสินลองดูอีกรอบ…
ความฟิน ความจิกหมอนขาดเป็นโหล ๆ มันก็มีตามประสาเกย์ชอบมโนอย่างผมผู้อยากมีความรักที่หอมหวาน แต่พอผมลองพิจารณาให้ดี ๆ สิ่งที่ผมเห็นคือ เกย์ในซีรีส์แทบทุกเรื่องเป็น ผู้ชายที่มีผิวขาว เกาหลีพิมพ์นิยม เป็นชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองกรุง มีไลฟ์สไตล์ที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นชนชั้นกลาง ตัวละครชายรักชายไม่ว่าจะเป็นคู่หลัก หรือรอง ล้วนไม่ต่างอะไรกับละครชายหญิงทั่วไปที่ คนที่เป็นพระเอกในซีรีส์วายมีความเป็นชายมากกว่าตัวละครที่หลายคนเรียกกันว่า นายเอก ส่วนนายเอกก็มีความเป็นหญิงเหมือนนางเอกในละครหลังข่าวชัด ๆ จากตรงนี้ มันทำให้ผมคิดถึงคอนเซ็ปต์หนึ่งที่มันกำลังแพร่กระจายสู่กลุ่มความหลากหลายทางเพศในรูปแบบของสื่อ หรือสิ่งที่เขาเรียกกันว่าการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน คอนเซ็ปต์นั้นก็คือ บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน หรือ Homonormativity
บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน หรือ Homonormativity คืออะไร
Homonormativity หรือบรรทัดฐานคนรักเพศเดียวกัน คือบรรทัดฐานพี่น้องของบรรทัดฐานรักต่างเพศที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุมกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้อยู่ในกรอบต่าง ๆ ที่ไปหยิบยกมาจากกรอบบรรทัดฐานรักต่างเพศมาทั้งดุ้นอย่าง กล่องเพศชายหญิง การแสดงออกทางเพศที่จำกัดแค่สองเพศ และบังคับให้คนเหล่านี้ประพฤติตัวแบบคนที่เพศตรงกับเพศกำเนิด หรือ cisgender การเชิดชูความรักผัวเดียวเมียเดียวในขณะที่กีดกันความรักรูปแบบอื่นอย่างความรักหลายคน หรือ Polyamory เพื่อให้คนหลุ่มนี้สามารถอยู่ในสังคมกระแสหลักได้อย่างสงบสุข หรือ solidarity
นอกจากนี้ บรรทัดฐานคนรักเพศเดียวกัน นั้นมีความเกี่ยวข้องกับทุนนิยม โดยโยงทุนนิยม บริโภคนิยม เข้ากับความเป็นเกย์ โดยมองข้ามไปว่า เกย์คือ ผู้ชาย ที่รักผู้ชายด้วยกัน
ผมว่าหลายคนคงเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า บรรทัดฐานรักต่างเพศ หรือ Heteronormativity กันบ่อยอยู่สมควร ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่เชิดชู และให้อภิสิทธิ์บุคคลที่เป็นคนรักต่างเพศ หรือที่เราเรียกกันว่าชายจริงหญิงแท้ แถมยังให้ให้ความชอบธรรมให้กับความรักแบบนี้โดยการทำให้เป็นจารีตของสังคม ซึ่งการทำแบบนี้มันเป็นการกดทับ และกีดกันกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับอัตลักษณ์ บังคับให้คนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศให้อยู่แค่กรอบเพศของ ความเป็นชาย และหญิง การกีดกันในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำที่กลุ่มคนข้ามเพศยังคงโดนเหยียดเมื่อเลือกใช้ห้องน้ำที่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง การกีดกันด้านหน้าที่การงานที่กีดกันคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน รวมไปถึงสิทธิทางกฎหมายที่อย่างการเปลี่ยนคำนำหน้า การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม การรักษาพยาบาล และการจดทะเบียนสมรสที่อนุญาตให้แค่คนกลุ่มรักต่างเพศเข้าถึงเท่านั้น ซึ่งตอนนี้การขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้อง “ความเท่าเทียม” ให้กับคนกลุ่มนี้กำลังดำเนินอย่างต่อเนื่องมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดก็ได้มีการยื่นการแก้ปพ.1448 เพื่อสร้างความ “เท่าเทียม” ให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่าง “แท้จริง” โดยมีความคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการกีดกันไม่ว่าจะเป็นเพศ ศาสนา หรือชนชั้นไหนก็ตาม เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ส่วนในด้านสื่อนั้น เราจะเห็นได้ว่ามีสื่อที่เกี่ยวกับชายรักชายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ต่าง ๆ ที่มีคนหลากหลายทางเพศเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในจอแก้ว (โดยเฉพาะรายการเลือกคู่ และทายสถานะของผู้ชายที่เข้ามาเป็นแขกร่วมรายการ) ตัวละครชายรักชายที่เขาว่ากันว่ามีความ “สมจริง” มากขึ้นซึ่งต่างจากอดีตที่นำเสนอชายรักชายให้เป็นตัวละครที่ไม่มีการพัฒนาในเชิงบทบาท หรือ fixed character เช่นเป็นตัวตลก ละครบางละครก็ให้ชายรักชายมีบทที่สมหวังในความรักมากขึ้น จนไปถึงมีซีรีส์เฉพาะชายรักชายออกมาฉายกันดาษดื่น โดยมีตัวละครพระเอกนางเอก พระรองนางรอง เหมือนกับละครชายหญิงเปี๊ยบเพียงแต่แค่เปลี่ยนจากนางเอก มาเป็นนายเอก แค่นั้นเอง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี จนทำให้บางเรื่องได้สร้างภาคต่อเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าซีรีย์เหล่านี้มีจุดประสงค์หลักคือแค่เพื่อมา “ขายของ” โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ สาววาย อย่างไรก็ตามซีรีส์เหล่านี้ รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ ที่มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นตัวหลักตัวรอง ล้วนสร้าง “ภาพจำ” หรือ “ความเข้าใจ” ว่าสังคมไทยคือสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นจากแต่ก่อน นอกจากนี้มันสร้างความอดทนให้กับสังคมไทยให้ทนทานต่อคนกลุ่มนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามการนำเสนอภาพแทนของเกย์ในซีรีส์ต่าง ๆ นั้น ถึงแม้หลายคนเคลมว่าจะสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้กับเกย์ แต่การนำเสนอภาพแทนของเกย์ในซีรีส์ปัจจุบันนั้นมันไม่ต่างอะไรกับการนำเอากรอบบรรทัดฐานรักต่างเพศมาใส่ลงในบริบทของคนรักเพศเดียวกัน พูดง่าย ๆ แค่เปลี่ยนเพศตัวพระนางให้เป็นผู้ชายทั้งหมดแค่นั้นเอง และด้วยสิ่งเหล่านี้มันผลิตซ้ำมาเรื่อย ๆ จนมันได้ซึมซับไปในสมองของผู้ชมว่า นี่คือสิ่งที่เกย์เป็นหรือทำ หรือนี่เป็นความสัมพันธ์ที่สังคมยอมรับได้ จนมันพัฒนากลายบรรทัดฐานในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่เกย์หลายคนต้อง achieve หรือให้ได้มาเพื่อให้ตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกจากนี้การสร้างบรรทัดฐานดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นมาในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มันยังกดทับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ซึ่งเราเรียกบรรทัดฐานนี้ว่า บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน หรือ Homonormativity
บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน หรือ homonormativity สามารถเรียกว่า เป็นน้องของบรรทัดฐานรักต่างเพศ ก็ว่าได้ บรรทัดฐานความเพศเดียวกัน คือบรรทัดฐานที่ไปลอกเลียนแบบมาจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็น อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ การใช้ชีวิต มาใส่ในบริบทของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งบรรทัดฐานนี้เป็นบรรทัดฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยบอกว่า ใครก็ตามที่ทำตามบรรทัดฐานนี้จะได้รับสิทธิ์ หรืออภิสิทธิ์ต่าง ๆ และการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ในขณะที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ทำตามกรอบบรรทัดฐานดังกล่าวจะไม่ได้รับสิทธิ์เหล่านั้น จุดมุ่งหมายสูงสุดของบรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่ร่วมกับสังคมกระแสหลักที่เป็นบรรทัดฐานรักต่างเพศได้อย่างสงบสุข หรือ solidarity ด้วยการกลืนกลาย (assimilate) เข้าไปในสังคมกระแสหลักโดยการสร้างบรรทัดฐานของตัวเองที่เป็นกระแสรองให้สอดคล้องกับกระแสหลัก
บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกันที่เราเห็น ๆ กันทั่วไป ก็อย่างเช่นที่ยังคงมีเกย์หลายคนยังเหยียดเกย์ที่ออกสาวว่าสาวขนาดนี้ไปผ่าเถอะ หรือไม่ก็เกย์เล่นกล้ามที่ออกสาวโดยพยายามยัดเยียดกรอบความเป็นชายแบบสุดโต่งให้กับเกย์กล้ามเหล่านี้ ซึ่งกรอบความเป็นชายดังกล่าวนั้นมันเป็นกรอบความเป็นชายที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันไปยกมาทั้งดุ้นมาใส่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อบังคับให้เกย์ในสังคมนี้ทำตามกรอบเพศที่ควรจะเป็น มากไปกว่านั้นยังมีคำพูดที่ว่า เกย์ทุกคนมีความสาว อันเป็นผลผลิตจากการนำเอาแนวคิดที่มองเพศแบบคู่ตรงข้ามมาใส่ในบริบทของคนรักเพศเดียวกันที่ว่า เพศที่ชอบผู้ชายจะต้องเป็นผู้หญิง ดังนั้นคนที่ชอบผู้ชายจะต้องแสดงออก หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความเป็นหญิงเช่นกัน ซึ่งมันเป็นการบังคับ ยัดเยียดให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศให้อยู่ในกรอบเพศ
นอกจากเรื่องการแสดงออกทางเพศแล้ว ฐานะทางเศรษฐกิจกับเรื่องการแสดงออกทางเพศก็ได้รับผลกระทบจากบรรทัดฐานนี้เช่นกัน กล่าวคือ คนเรามักจะมีภาพจำของเกย์ว่า เกย์จะต้องแต่งตัวจัด หรือแต่งตัวหรูหรา มีความเป็นวัตถุนิยม และเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งสื่อมักจะนำเสนอภาพลักษณ์เหล่านี้โดยพยายามผูกความเป็นเกย์เข้ากับความเป็นวัตถุนิยม ซึ่งมันเป็นการมองข้ามว่า ความเป็นเกย์ แท้จริงแล้วมันเป็นความรู้สึกของผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน หาใช่การแต่งตัว หรือการเป็นวัตถุนิยม หรือเป็นชนชั้นกลางเพื่อมาแสดงถึงความเป็นเกย์ไม่ แต่ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ของเกย์ที่ผูกติดกับความเป็นวัตถุนิยม และทุนนิยม มันทำให้ความเป็นเกย์นั้นมันเหมือนถูกผูกขาดแค่ชนชั้นกลางเพียงอย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ความเป็นเกย์นั้นมันมีได้ทุกชนชั้น ทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง หรือแม้แต่ชนชั้นรากหญ้าที่ใช้แรงงาน แต่ด้วยการผูกขาความเป็นเกย์เข้ากับชนชั้นกลางในสื่อเพียงอย่างเดียว ทำให้หลาย ๆ ครั้งเกย์จากชนชั้นรากหญ้า หรือเกย์จากต่างจังหวัดที่อำนาจทางเศรษฐกิจมีไม่มากพอที่จะสามารถเข้าถึงวัตถุต่าง ๆ ถูกมองว่าไม่ใช่เกย์ หรือบางครั้งก็มีการเหยียดถึงรูปลักษณ์ภายนอกต่าง ๆ ว่าไม่เหมาะกับการเป็นเกย์
ในเรื่องความสัมพันธ์ บรรทัดฐานดังกล่าวยังเชิดชูความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวคิดของบรรทัดฐานความรักต่างเพศที่มองว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันคือความสัมพันธ์ที่มีความซื่อสัตย์ พูดง่าย ๆ พยายามนำเอาศีลธรรมมาผูกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความสัมพันธ์ตรงนี้ ในขณะที่มองความสัมพันธ์ที่มีมากกว่าสองคนขึ้นไปอย่าง polyamory ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ และผิดศีลธรรม
จากตรงนี้เราสามารถพูดได้ว่าบรรทัดฐานความรักเพศเดียวกันเป็นบรรทัดฐานขับเน้นปิตาธิปไตย หรือ ความชายเป็นใหญ่อันกดทับเกย์ที่โอบกอดความเป็นหญิงมาเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นการขับเน้นชนชั้นทางเพศ หรือ gender hierarchy ว่าเกย์ที่มีความเป็นชายมากกว่าย่อมมีอำนาจกว่าเกย์ที่มีความเป็นชายน้อยกว่า และยังพยายามให้เกย์ประพฤติตนให้สอดคล้องกับกรอบเพศที่สังคมกระแสกหลักวางไว้ ว่ามีอวัยวะแบบไหนต้องประพฤติให้เป็นแบบนั้น (cisgenderism) และยังกดทับกลุ่มที่ไม่ได้เชิดชูความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจ อย่าง polyamory ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็ขับเน้นเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมหรือ social class โดยผูกการสร้างอัตลักษณ์เกย์เข้ากับอำนาจทางเศรษฐกิจของปัจเจกในการที่จะใช้วัตถุต่าง ๆ และการเป็นชนชั้นกลาง เพื่อแสดงถึงความเป็นเกย์ ในขณะที่ใครที่ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอ หรือไม่ใช่ชนชั้นกลางก็จะถูกกีดกัน หรือถูกตัดสินว่าไม่ใช่เกย์ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ มันเหมือนกับเป็นการตกม้าตาย และมีความย้อนแย้งในตัวเองของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่พยายามปลดแอกตัวเองออกจากการกดทับ กีดกัน และดูหมิ่นโดยบรรทัดฐานรักต่างเพศอันเป็นกระแสหลัก และอยากอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข และพยายามขับเคลื่อนสิทธิด้านนี้ โดยมีหลักที่ว่า เราควรเคารพความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าไม่ว่าจะเพศไหน ชนชั้นไหน หรือมาจากแห่งใดก็ตาม แต่กลับสร้างบรรทัดฐานตรงนี้ที่ตัวเองไปก๊อปมาจากบรรทัดฐานของกระแสหลักมาทั้งดุ้น มาใช้ในสังคมของตัวเอง และกดทับกันเอง
สำหรับซีรีส์วายนั้น โครงสร้างเรื่อง พล็อตต่าง ๆ ตัวละคร แม้แต่เพศของตัวละครนั้นก็ตกอยู่ในกรอบบรรทัดฐานคนรักเพศเดียวกัน โดยไปอิง หรือไป base on ละครหลังข่าว หรือละครกระแสหลักที่มีฉายอยู่ดาษดื่นทั่วไป ที่คนมักจะเห็นว่าเป็นแค่สื่อที่ให้ความบันเทิง แต่แท้จริงแล้ว ละคร เป็นเครื่องมือในการควบคุมคน ปลูกฝังทัศนคติได้อย่างดี โดยเฉพาะ ปลูกฝังการเมืองเรื่องเพศ ซึ่งมีผลกระทบต่อความคิดของคน และการมองเรื่องเพศของสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าการที่ซีรีส์วายไปอิงละครจำพวกนี้มา มันไม่เพียงแต่อิงแค่ตัวเรื่อง ตัวละครมาอย่างเดียว แต่ไปก็อปเอาอุดมการณ์ และการเมืองเรื่องเพศของละครกระแสหลักมาทั้งดุ้น
ละคร ซีรีส์วาย กับการเป็นเครื่องมือทางการเมืองเรื่องเพศ
สื่ออย่างละครนั้นเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งที่คอยควบคุมคนให้อยู่ในกรอบ หรือเชื่อในอุดมการณ์บางอย่าง สำหรับเรื่องเพศนั้นละครจะปลูกฝังบรรทัดฐานรักต่างเพศให้กับผู้ชมว่าเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องที่สุด
ตัวละครชายหญิงนั้นอยู่ในกรอบเพศของบรรทัดฐานรักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ท่าทาง การแสดงออกทางเพศ นอกจากนี้ละครเหล่านี้ยังเชิดชูความรักผัวเดียวเมียเดียว และสั่งสอนคนที่พยายามออกนอกกรอบผ่านทางตัวละครที่เป็นตัวร้าย
การนำเสนอตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในละครนั้นมักจะอยู่ในรูปแบบ stereotype
แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ได้นำสิ่งที่เรียกว่า Boy’s Love เข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ และนำมาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ glocalization เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงเนื้อหาและซึมซับอุดมการณ์ต่าง ๆ โดยไปอิงจากละครกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็น โครงเรื่อง ตัวละคร การแสดง การนำเสนอต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ไปอิงสิ่งเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังไปหยิบเอาบรรทัดฐานรักต่างเพศมาใส่ เพียงแค่เปลี่ยนตัวละครให้เป็นชายล้วนแค่นั้น จนก่อเกิดเป็นบรรทัดฐานคนรักเพศเดียวกัน อันเป็นการกดทับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
ละคร เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะลูกเล็กเด็กแดง จนไปถึงผู้สูงอายุนั่งตะบันหมาก ล้วนก็บริโภคละครเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง และความพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงานอันหนักหน่วงในแต่ละวัน ละครเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้ผู้ชมนั้นหนีออกจากความเป็นจริง (escape) ไปสู่พื้นที่ที่ให้ตัวเองอยู่ในโลกอุดมคติ หรือพื้นที่ที่ตัวเองไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ในชีวิตจริง อย่างมีความรักแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวย รวมไปถึงทำร้ายร่างกายคนที่ตัวเองเกลียดหน้า (โดยมีนางร้ายในละครเป็นตัวแทนของคนที่เกลียดหน้าในชีวิตจริง) ดังนั้นละครจึงเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างความสุข และการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายในชีวิตจริงให้กับผู้คน แม้จะเพียงชั่วขณะก็ตาม
ดูเผิน ๆ ละคร มันก็แค่สิ่งที่ให้ความบันเทิง แต่ความจริงแล้วหน้าที่ของละครอีกอย่างคือการสั่งสอน อบรม และขัดเกลาผู้ชม ให้เชื่อในอุดมการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะคุณธรรมและบรรทัดฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเพศ ว่าอะไรคือความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง อะไรคือร่างกายที่ดีงาม สวยงาม อะไรคือคุณธรรมทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในกรอบของ บรรทัดฐานรักต่างเพศ ที่พยายามสอนให้คนประพฤติตามกรอบเพศที่ตัวเองอยู่โดยยึดอวัยวะเพศ พูดง่าย ๆ ก็ใครมีอะไรก็ให้ประพฤติตามเพศนั้น (Cisgender) อย่างที่เราเห็นว่า พระเอก ก็ทำตัวอยู่ในกรอบของความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นการไว้ทรงผม หน้าตา การแต่งตัว หรือแม้กระทั่งการแสดงออกทางเพศ ที่อยู่ในกรอบของความเป็นชายที่เป็นอำนาจ (hegemonic masculinity) อย่าง มีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ออกสาว ไว้ผมสั้น หรือแม้กระทั่งปัจจุบันพระเอกก็มีซิกส์แพ็ค มีกล้ามบาง ๆ หรือที่เราเรียกว่า Spornosexual แถมยังมีฐานะแบบชนชั้นกลาง มีความเด็ดเดี่ยว มีความเป็นผู้กระทำ และควบคุมนางเอก ส่วนนางเอกก็อยู่ในกรอบของความเป็นหญิงแบบดั้งเดิม อย่างมีความอ่อนหวาน อ่อนโยน มีความเป็นกุลสตรี เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่น (จริงอยู่ที่ว่านางเอกปัจจุบันสมัยนี้มีความเป็นผู้กระทำ รวมไปถึงมีการทำลายกรอบความเป็นหญิงแบบดั้งเดิมที่ต้องให้เป็นผู้ถูกกระทำอยู่เรื่อย อย่างมีการต่อร้องต่อเถียงกับพระเอก ด่ากราดคนที่เอาเปรียบเธอ รวมไปถึงตบนางร้าย อย่างไรก็ตามเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ตามพล้อตเรื่อง ผู้หญิงที่เป็นนางเอกนั้นก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเอก รวมไปถึงเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงนางเอกในละครก็ตกอยู่ในความคิดคู่ตรงข้ามอยู่ดี)
นอกจากนี้ละครเหล่านี้ยังเทิดทูนบูชา ความรักแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือ Monogamy ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพึงกระทำ อย่างที่เราเห็นคือการลงเอยแฮปปี้เอ็นดิ้ง และการแต่งงานของคู่พระเอกนางเอกที่ดูหรูหราอลังการอบอวลไปด้วยความชื่นมื่น สิ่งเหล่านี้คือรางวัลของคนที่สามารถธำรง ยึดมั่น และเชิดชูความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวอันเป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานรักต่างเพศ ในขณะเดียวกันคนที่พยายามทำลายบรรทัดฐานความสัมพันธ์นี้อย่างตัวร้าย ก็จะโดนลงโทษไม่ว่าจะเป็นการโดนทำร้ายร่างกาย การถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวอย่างน่าอนาถ หรือไม่ก็เสียสติ จนไปถึงเสียชีวิตเลยก็มี ซึ่งมันคือบทลงโทษของคนที่พยายามจะทำลายบรรทัดฐานรักต่างเพศตรงนี้
ในส่วนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในละครไทยนั้น มักจะถูกนำเสนอในรูปแบบของ stereotype ของบรรทัดฐานรักต่างเพศ อย่างกะเทยจะต้องโอบกอดความสาวแบบสุดโต่ง ปากจัด แต่งตัวจัด ส่วนเกย์ หรือชายรักชายนั้นจะต้องอยู่ในรูปผู้ชายที่โอบกอดความเป็นหญิงอยู่เป็นนิจ และตัวละครเหล่านี้จะเป็นได้แค่ตัวประกอบ เป็นเพื่อนของนางเอกอยู่เสมอ จากการนำเสนอภาพลักษณ์แบบนี้ มันเป็นการนำเสนอที่บังคับให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นอยู่นกรอบเพศของชาย และหญิง นอกจากนี้ ถ้าตัวละครเหล่านี้มีความรัก หรือมีความสัมพันธ์ก็มักจะไม่สมหวัง หรือไม่ก็ต้องพบจุดจบที่ไม่ดี ซึ่งการนำเสนอแบบนี้ เราสามารถมองได้ว่า มันเป็นสั่งสอนคนที่พยายามออกนอกกรอบบรรทัดฐานรักต่างเพศ ที่บังคับว่าผู้ชาย จะต้องรักผู้หญิงเท่านั้น ความสัมพันธ์แบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ผิด โดยมีการผิดหวังในความรัก ทั้งจากเป็น และตายเป็นบทลงโทษสำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามละครบางเรื่องก็เริ่มมีการนำเอาคู่รักเพศเดียวกันมาใส่ และทำให้คนเหล่านี้สมหวังในความรักมากขึ้น อย่างไรก็ตามการนำเสนอเหล่านี้ล้วนเป็น stereotype ของคนกลุ่มรักต่างเพศที่เขามองคนกลุ่มดังกล่าว รวมไปถึงพยายามยัดเยียดเหล่านี้อยู่ในกรอบเพศที่คนกลุ่มรักต่างเพศสร้างขึ้นมา
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ละครไทยนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม และดีงามของสังคม โดยให้บรรทัดฐานรักต่างเพศให้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง เพราะมันนำไปสู่ความสงบ และถูกต้องตามหลักศีลธรรม ในขณะที่ก็ยังคงกดทับคนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่เหมารวม รวมไปถึงการใช้จุดจบของคนกลุ่มนี้เมื่อมีความสัมพันธ์เป็นดั่งคำสั่งสอนของคนที่คิดริอาจจะทำลายบรรทัดฐานที่สังคมเห็นว่ามันดี และถูกต้อง
แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ และทุนนิยมที่ได้นำสิ่งที่เรียกว่า Boys Love (BL) หรือสื่อที่เกี่ยวกับความรักอีโรติคของชายกับชายที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น เข้ามาสู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา และเกิดเป็นกระแสความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และในหลาย ๆ ครั้งก็ดังกว่าละครกระแสหลัก ในฐานะที่เป็นสื่อทางเลือกเฉพาะให้กับกลุ่มที่ชื่นชอบเนื้อหาเรื่องราวแบบนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงรักต่างเพศ ที่ BL ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่สำหรับการปลีกเองออกจากโลกความเป็นจริงให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้จินตนาการตัวเองเข้ากับตัวละครชายในเรื่องที่เรียกว่า เคะ (อุเคะ แปลว่า ผู้รับ) และถูกกระทำโดย เมะ (เซเมะ แปลว่า ผู้รุก) และดื่มด่ำไปกับ sexual fantasy หรือแฟนตาซีทางเพศไม่ว่าจะเป็นฉากบนเตียง ฉากจูบอันดูดดื่ม ฉากแอ๊วเอินเขินอายอันหวานเลี่ยน จนไปถึงการแต่งงานที่หอมหวาน ซึ่งมันอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงของผู้หญิงทุกคน ซึ่งการดำเนินเรื่องของ BL แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้นก็ยังอิงกับความเป็นบรรทัดฐานรักต่างเพศของสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งตัวละครทั้งเมะและเคะนั้น ก็อิงมาจากสื่อชายหญิงที่มีมาก่อนในญี่ปุ่นอยู่แล้วทั้งสิ้น
แต่ด้วยการที่จะนำมาเผยแพร่ในภูมิภาคอื่นอย่างประเทศไทยนั้น ถ้าจะให้อิงแบบญี่ปุ่น และนำมาเผยแพร่เลยก็คงขายยาก เพราะด้วยบริบททางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าไม่ใช่คนที่ศึกษาวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านสื่อ หรือการ์ตูนต่าง ๆ ก็คงไม่รู้ว่า เซเมะ กับอุเคะ คืออะไร ดังนั้นเพื่อให้ขายได้ในประเทศไทย การดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือที่เราเรียกกันว่า glocalisation โดยใส่วัฒนธรมมความเป็นท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความเป็นอยู่ ศาสนา ความเป็นชาตินิยม รวมถึงวัฒนธรรมเรื่องเพศ เพื่อที่ให้ผู้ชมนั้นเข้าใจถึงเนื้อหามากขึ้น สำหรับสื่อ BL ที่แพร่หลายอยู่ในไทยนั้น โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกกันว่า ซีรีส์วาย ที่กำลังแพร่หลายในไทยนั้นก็อิงโครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง ภาพลักษณ์ตัวละคร การพัฒนาบทบาทตัวละคร ล้วนอิงมาจาก ละคร ชายหญิงของไทยที่มีมาก่อนอยู่แล้วทั้งสิ้น จึงทำให้แนวคิดทางการเมืองเรื่องเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในซีรีส์วายเหล่านั้นสามารถซึมซับเข้าไปในผู้ชมได้อย่างง่ายได้ เหมือนกับที่ละครชายหญิงได้ทำกับผู้ชมไทยมานานร่วมหลายปี
ถ้าเรามองการแพร่กระจายของซีรีส์วายที่มันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้น มันเหมือนกับว่าประเทศไทยมีความเปิดกว้างในเรื่องกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่สามารถให้อำนาจคนกลุ่มนี้ได้มีตัวตนในที่สาธารณะ ได้โลดแล่นอยู่ในจอแก้ว ซึ่งตรงนี้มันทำให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเห็นว่าตัวเองได้รับสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มรักต่างเพศ อย่างไรก็ตามถ้าเรามองให้ดี ซีรีส์เหล่านี้มันกำลังกดทับคนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ด้วยการสร้างบรรทัดฐานให้กับคนกลุ่มที่รักเพศเดียวกัน โดยวางกรอบเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางเพศที่ยังคงอยู่ในรูปแบบความคิดคู่ตรงข้ามของชายหญิง ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ร่างกาย และอุปนิสัย ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องโดยให้ความรักผัวเดียวเมียเดียวเป็นความรักที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงสร้างมาตรฐานทางเศรษฐกิจโดยยึดโยงความเป็นชนชั้นกลางเข้ากับความเป็นเกย์ แถมยังสร้างภาพลักษณ์ที่เหมารวมให้กับคนกลุ่มความหลากหลายคนอื่น อย่างกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ อีกด้วย
Scroll To Top